อาหารของต้นไม้

มนุษย์เราต้องกินอาหารเพื่อประทังชีวิต ไม่ว่าจะกินข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่เราต้องกิน ถ้าวันไหนไม่ได้กิน อาการหิว หมดเรี่ยวหมดแรงถามหากันแน่ๆครับ ต้นไม้ก็เหมือนคนนั้นแหละครับ ต้องการอาหารเพื่อความอยู่รอดเหมือนกัน อาหารของต้นไม้ก็คือปุ๋ยที่เราๆท่านๆรู้มาตั้งแต่สมัยเรียนประถมกันแล้ว ปุ๋ยที่ว่าก็มีทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี แต่ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยแบบไหนก็ตาม เราสามารถจำแนกสารอาหารออกได้ดังนี้


(ที่มา สำนักสำรวจและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน)

ธาตุอาหารหลัก (N P K)

ไนโตรเจน (Nitrogen, N) ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านกิ่ง ก้าน ใบ และ ลำต้น ช่วยให้ใบเขียว ช่วยในการสะสมอาหารของพืช ช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ให้ผลและเมล็ด

กรณีที่พืชมีธาตุไนโตรเจนมากเกินไป
1. พืชมีสัดส่วนของต้นสูงกว่าราก
2. ใบมีสีเขียวเข้มกว่าปกติ
3. ผลที่ได้จะมีเปลือกหนา

กรณีที่พืชขาดธาตุไนโตรเจน
1. ใบจะเหลืองผิดปกติ โดยเริ่มจากใบล่างขยายไปสู่ยอดใบ
2. ลำต้นจะผอม, กิ่งก้านลีบเล็ก และมีใบน้อย และ ใบร่วงง่าย
3. พืชบางชนิดจะมีลำต้นสีเหลืองหรืออาจมีสีชมพูปนด้วย
4. ใบพืชที่มีสีเหลืองปลายใบและขอบใบจะเริ่มแห้งแล้วลุกลามไปเรื่อยๆ จนใบร่วงจากลำต้น
5. พืชจะไม่เติบโตหรือโตช้ามาก

ฟอสฟอรัส (Phosphorus ,P) ส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบราก ควบคุมการออกดอก และ การติดผล

กรณีที่พืชขาดธาตุฟอสฟอรัส
1. พืชชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน พืชบางชนิดอาจจะมีลำต้นบิดเป็นเกลียว เนื้อไม้จะแข็งแต่ว่าจะเปราะและหักง่าย
2. รากจะเจริญเติบโตและแพร่กระจายช้ากว่าที่ควร ดอกและผลที่ออกมาไม่สมบูรณ์ บางครั้งจะหลุดร่วงจากขั้วได้ง่าย

โพแทสเซียม (Potassium, K) ช่วยในการสังเคราะห์อาหาร เป็นส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายสารอาหารต่างๆในต้นพืช เช่น ช่วยขนส่งน้ำตาลจากใบไปสู่ผล ทำให้ผลโตเร็ว คุณภาพดี สามารถต้านทานโรคบางอย่างได้

กรณีที่พืชขาดธาตุโปแตสเซียม
1. ขอบใบเหลืองและกลายเป็นสีน้ำตาลโดยเริ่มต้นจากปลายใบเข้าสู่กลางใบ ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลจะแห้งเหี่ยว และมักจะเกิดจากใบล่างก่อนแล้วค่อยๆ ลามขึ้นไปข้างบน พืชที่เห็นอาการขาดธาตุโปแตสเซียมชัดเจนคือพืชจำพวก ข้าวโพด, มัน
2. ทำให้ผลลิตตกต่ำ พืชจำพวกธัญพืชจะมีเมล็ดลีบ น้ำหนักเบา พืชหัวจะมีแป้งน้อย ฝักจะเล็กรูปร่างผิดปกติ  พืชพวกใบยาสูบจะมีคุณภาพต่ำ ติดไฟยา กลิ่นไม่ดี



(ที่มา http://blog.greatgardensupply.com)

ธาตุอาหารรอง

แคลเซียม (Ca)  เป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ด พืชขาดธาตุนี้ใบที่เจริญใหม่จะหงิกงอ ตายอดไม่เจริญ อาจมีจุดดำที่เส้นใบ รากสั้น ผลแตก และมีคุณภาพไม่ดี

แมกนีเซียม (Mg)  เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์พอเหมาะและช่วยในการงอกของเมล็ด ถ้าขาดธาตุนี้ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบ และใบจะร่วงหล่นเร็ว

กำมะถัน (S) เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรดอะมิโน โปรตีน และวิตามิน ถ้าขาดธาตุนี้ทั้งใบบนและใบล่างจะมีสีเหลืองซีด และต้นอ่อนแอ

ธาตุอาหารเสริม หรือ จุลธาตุ

เหล็ก (Fe) ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสงและหายใจ ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีขาวซีดในขณะที่ใบแก่ยังเขียวสด

ทองแดง (Cu) ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและแป้ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะชะงักการเจริญเติบโตและกลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง และพืชทั้งต้นจะชะงักการเจริญเติบโต

แมงกานีส (Mn) ช่วยในการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังเขียว ต่อมาใบที่มีอาการดังกล่าวจะเหี่ยวแล้วร่วงหล่น

สังกะสี (Zn) ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์ และแป้ง ถ้าขาดธาตุนี้ใบอ่อนจะมีสีเหลืองซีดและปรากฏสีขาวๆ ประปรายตามแผ่นใบ โดยเส้นใบยังเขียว รากสั้นไม่เจริญตามปกติ

โบรอน (B) ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร มีบทบาทสำคัญในการติดผลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมน การใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและการแบ่งเซลล์ ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะตายแล้วเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างก็จะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนา โค้งและเปราะ

โมลิบดีนัม (Mo) ช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะมีอาการคล้ายขาดไนโตรเจน ใบมีลักษณะโค้งคล้ายถ้วย ปรากฏจุดเหลืองๆ ตามแผ่นใบ

คลอรีน (Cl) มีบทบาทบางประการเกี่ยวกับฮอร์โมนในพืช ถ้าขาดธาตุนี้พืชจะเหี่ยวง่าย ใบสีซีด และบางส่วนแห้งตาย

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักสำรวจและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน และ zen-hydroponics)


ลักษณะใบที่เกิดจากการขาดธาตุอาหารต่างๆ

(รูปจาก www.growrealfood.com)

ปุ๋ยเคมี

หลังจากเราได้รู้จักกับธาตุอาหารต่างๆที่จำเป็นต่อพืชแล้ว เราจะมาทำความรู้จักปุ๋ยเคมีกันครับ คุณเคยสงสัยไหมว่า เจ้าเลข 3 ตัวที่ระบุไว้ข้างถุงของปุ๋ยเคมีนั้นหมายถึงอะไร

เลข 3 ตัวที่ว่า เขาเรียกว่า "สูตรปุ๋ย" โดยตัวเลขแต่ละตัวจะหมายถึงน้ำหนักของธาตุ N-P-K เป็นกิโลกรัม ต่อ ปุ๋ย 100 กิโลกรัม เช่น





ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หรือ ที่เรียกกันว่า สูตรเสมอ จะหมายความว่า ปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม จะมีไนโตรเจน 16 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 16 กิโลกรัม และ โพแทสเซียม 16 กิโลกรัม

ปุ๋ย สูตร 24-9-19 หรือ สูตรโยกหน้า (ตัวเลขแรกจะมีค่ามากกว่า 2 ตัวท้าย) จะมี ไนโตรเจน 24 ส่วน ฟอสฟอรัส 9 ส่วน และ โพแทสเซียม 19 ส่วน

ปุ๋ย สูตร 9-19-34 หรือ สูตรโยกหลัง (ตัวเลขสุดท้ายจะมีค่ามากกว่า 2 ตัวหน้า) จะมี ไนโตรเจน 9 ส่วน ฟอสฟอรัส 19 ส่วน และ โพแทสเซียม 34 ส่วน

ปุ๋ย สูตร 46-0-0 หรือ ปุ๋ยยูเรีย จะมี ไนโตรเจน 46 ส่วน และไม่มีฟอสฟอรัส กับ โพแทสเซียม เลย

การเลือกใช้ก็ต้องแล้วแต่วัตถุประสงค์ครับว่าจะบำรุงส่วนไหนของพืช อาจจะใช้จำแบบนี้ก็ได้ครับ

  ตัวแรก บำรุงใบ   ตัวที่ 2 บำรุงดอก  ตัวสุดท้าย บำรุงผล

การให้ปุ๋ยต้นมะนาว

ช่วงปีแรก 
- ควรใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น 
       สูตร 20-10-10, 25-7-7 
       สูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 ในอัตราส่วน 1:1 ซึ่งจะได้ออกมาเป็น 30.5-7.5-7.5
- ปริมาณ 30 - 60 กรัมต่อต้นต่อ 7 วัน ขึ้นกับขนาดทรงพุ่ม
- และ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ 0.5 - 1 กิโลกรัมต่อต้น 6 เดือน

การบำรุงต้นก่อนออกดอก
- ช่วง 1-2 เดือนก่อนออกดอก
- ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 12-24-12 หรือ 9-24-24
- อัตรา 1 ครั้งต่อ 7 วัน
       พุ่มขนาด 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 25 กรัม
       พุ่มขนาด 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 75 กรัม

บำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยว
- หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่ง ให้ใส่ปุ๋ยเพื่อชดเชยธาตุอาหารที่เสียไปกับการผลิตมะนาว
- ใส่ปุุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 0.5 กิโลกรัมขึ้นไปต่อต้น ขึ้นกับขนาดทรงพุ่ม
- ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1 ครั้งต่อ 7 วัน
      พุ่มขนาด 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 25 กรัม
      พุ่มขนาด 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 75 กรัม

เทคนิคการให้ปุ๋ยเคมี
- การให้ปุ๋ยเคมีควรให้รอบทรงพุ่มเพราะพืชจะใช้ปลายรากในการดูดสารอาหาร และไม่ควรจะให้ชิดโคนต้นมากเกินไป เพราะจะทำให้โคนเน่าได้
ก่อนให้ปุ๋ยเคมี ควรพ่นน้ำให้ดินบริเวณที่จะให้ปุ๋ยชุ่มน้ำก่อน
- หลังให้ปุ๋ยต้องพ่นน้ำให้ปุ๋ยละลาย ไม่เช่นนั้น ต้นไม้จะเหี่ยวเฉาได้

(ที่มา ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ฟาร์มแสนดี


1 ความคิดเห็น :