เมื่อต้นมะนาวโดนโจมตี

หลังจากนำกิ่งพันธุ์ที่ได้มาปลูกลงดินได้ประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ่ยให้น้ำทั้งจากเทวดา และ คนธรรมดาแบบผม สังเกตุได้ว่า ต้นมะนาวแป้นพิจิตรมีการเจริญเติบโต ผลิใบใหม่ออกมาให้ชื่นใจบ้าง แต่ต้นพันธุ์ดกพิเศษดูเหมือนไม่โตขึ้นเลยแหะ

ต้นมะนาวแป้นพิจิตรดูแข็งแรงดีไม่เป็นโรคอะไร จะมีก็แต่หนอนชอนใบ และ หนอนแก้วส้มมาคอยกัดกินใบอ่อน จากที่เคยเห็นใบที่โดนหนอนชอนใบจากในรูปภาพตาม Internet ต่างๆ คราวนี้มาเห็นกับตาแบบสดๆกันเลยทีเดียว ลักษณะเส้นทางที่หนอนชอนในใบจะคดเคี้ยวไปมา เหมือนคนเมาเดินวกไปวนมา แล้วใบก็จะหงิกงอแบบในรูป หนอนจะเลือกชอนเฉพาะใบอ่อนๆ ไม่เห็นมันจะชอนใบแก่ๆเลย สงสัยใบอ่อนจะกินอร่อยกว่ามั้ง



ต้นพันธุ์ดกพิเศษก็ไม่น้อยหน้ากลัวจะเสียชื่อ โดนโรคแคงเกอร์กันไปเต็มๆ ทั้งใบและกิ่ง


มะนาวโดนโจมตีแบบนี้ ผมจึงเริ่มหาข้อมูลในการป้องกันรักษาทั้งหนอนชอนใบและโรคแคงเกอร์ และก็ได้พบว่า วิธีการป้องกันรักษามีทั้งแบบใช้สารเคมี สารชีวภาพ และ สมุนไพร แต่ละแบบก็มีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่หลังจากได้คิดไปคิดมาแล้ว ผมกังวลเรื่องความปลอดภัยของผมเองที่เป็นคนปลูก จึงคิดว่า ควรจะไปทางชีวภาพ หรือไม่ก็สมุนไพรจะดีกว่าครับ เพราะการใช้สารเคมี ถ้าไม่ป้องกันดีๆเวลาฉีดพ่น จะทำให้สารเข้าสะสมในร่างกายได้ เรียกว่า สะสมพิษทั้งคนปลูกและทั้งต้นมะนาวนั้นแหละครับ

หลังจากรีบค้นคว้าเพื่อแข่งกับเวลา กลัวว่ามะนาวจะแย่ซะก่อนได้ยา จึงได้ข้อมูลออกมาแบบนี้ครับ


เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ทูริงเยนซิส หรือ บีที


บีที  เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งในธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการทำลายแมลง โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อที่เป็นศัตรูของพืช เมื่อหนอนกินเชื้อ บี ที เข้าไปสารพิษที่ บี ที สร้างขึ้นจะไปมีผลทำให้ระบบย่อยอาหารของแมลงล้มเหลว กระเพาะบวมและแตก  ส่งผลให้แมลงหยุดกินอาหารเคลื่อนไหวช้า ชักกระตุก เป็นอัมพาต และตายภายใน 1-2 วัน  เชื้อ บี ที จึงสามารถใช้ในการควบคุม หนอนผีเสื้อ ศัตรูพืชหลายชนิดที่ดื้อต่อสารเคมีได้ดี ในขณะเดียวกันเชื้อ บี ที ยังเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์  สัตว์  และไม่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ผมใช้ บีที ในการป้องกันและกำจัดทั้งหนอนชอนใบและหนอนกินใบ

วิธีการใช้เชื้อ บี ที

เชื้อ บี ที ที่มีจำหน่ายมีหลายชนิด หลายความเข้มข้น ทั้งในรูปผงแห้ง และน้ำเข้มข้น การใช้ บี ที ควรใช้ตามอัตราแนะนำตามฉลาก โดยมีวิธืการดังนี้

   1. สำหรับ บี ที ผงแห้งควรผสมในน้ำประมาณ 1 ลิตร แล้วคนให้ละลายก่อนจะนำไปผสมลงในน้ำที่จะใช้ฉีดพ่นทั้งหมด
   2. หลังจากผสม บี ที แล้วให้พักไว้ 2-3 ชั่วโมง ให้เชื้อ บี ที แตกตัวและสร้างสารพิษในถังฉีดพ่น
   3. ควรผสมสารจับใบทุกครั้งที่พ่น เพื่อช่วยให้เชื้อ บี ที ติดอยู่กับส่วนต่างๆ ของพืชได้นานยิ่งขึ้น
   4. ควรปรับหัวฉีดให้เกิดละอองน้ำให้มากที่สุด ฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืชมากที่สุด และควรฉีดพ่นในเวลาเย็น
   5. ควรพ่น บี ที 3 - 5 วัน ติดต่อกัน 2 - 3 ครั้ง ในช่วงที่หนอนเกิดการระบาด

เทคนิคการใช้เชื้อ บี ที ให้ได้ผลดี

   1. ควรใช้เชื้อ บี ที ในขณะที่หนอนยังเล็กอยู่
   2. ควรพ่น บี ที ในตอนเย็นเพื่อเลี่ยงแสงแดด และการฉีดพ่นในขณะมีความชื้นในแปลงสูง จะได้ผลดียิ่งขึ้น
   3. ควรฉีดพ่น บี ที ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง และควรผสมสารจับใบทุกครั้ง
   4. ควรฉีดให้โดนตัวหนอน หรือ บริเวณใบที่หนอนชอน
   5. ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยังใหม่และยังไม่หมดอายุการใช้งาน หรือยึดเกณฑ์
              บี ที ผงแห้ง จะมีอายุ 2-3 ปี  นับจากวันผลิต       บี ที น้ำเข้มข้น จะมีอายุ 1-2 ปี  นับจากวันผลิต
   6. ไม่ควรผสมเชื้อ บี ที กับสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช  โดยเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย เช่น สารปฏิชีวนะและสารประกอบทองแดง  คอปเปอร์ คลอไรด์ เป็นต้น
   7. ควรเก็บภาชนะบรรจุ บี ที ไว้ให้พ้นจากแสงแดดและความร้อน

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดเชียงใหม่ http://www.pmc08.doae.go.th/bt.htm)

เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ซับทีลิส หรือ บี เอส


บีเอส มีคุณสมบัติสำหรับป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคพืชได้หลายชนิด และในขณะเดียวกันเชื้อ บี เอส ยังเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่มีพิษตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม

บีเอส พลายแก้ว ค้นพบโดยคุณพลายแก้ว เพชรบ่อแก ซึ่งเป็นนิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในขณะที่ค้นพบ

ผมใช้ บีเอส ในการป้องกันและบรรเทาอาการโรคแคงเกอร์


ไทเกอร์เฮิร์บ

สมุนไพรบดละเอียดจาก ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และ ตะไคร้หอม ด้วยกลิ่นเฉพาะตัว และรสขมเคลือบผิว ทำให้หนอน เพลี้ยไร ด้วง แมลงกัดกินใบ และ แมลงปากดูดกินน้ำเลี้ยงต่างๆ ไม่เข้ามากินใบ


ในรูปเป็น 4 ทหารเสือในการป้องกันและกำจัดหนอนชอนใบ หนอนกินใบ และ โรคแคงเกอร์

บีที บีเอส สารจับใบ และ ไทเกอร์เฮิร์บ



จากการทดลองใช้จุลินทรีย์ และ สมุนไพร พบว่าหนอนชอนใบหยุดชอนใบ หนอนส้มแก้วหยุดกินใบ แสดงว่า บีที กับ ไทเกอร์เฮิร์บใช้ได้ผล ส่วนโรคแคงเกอร์ยังไม่ทันจะเห็นผลว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ ต้นมะนาวพันธุ์ดกพิเศษที่เป็นโรคแคงเกอร์อยู่แล้วก็เกิดโรครากเน่าซ้ำเข้าไปอีก




ผมจึงต้องรีบค้นหาการป้องกันรักษาโรครากเน่าโคนเน่าด้วยวิธีทางชีวภาพก็ได้มาเจอ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เข้าให้ครับ แต่ก็ช้าเกินแก้แล้ว เพราะกว่าจะสั่งซื้อของ กว่าจะได้ของมา ต้นมะนาวก็ไม่สามารถทนต่อไปได้ ใบร่วงแห้งตายหมดต้นเลยครับ

เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่น่าสนใจทีเดียว เอาไว้ผมจะหาโอกาสเหมาะๆเล่าให้ฟังกัน


                                                                         ฟาร์มแสนดี


0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น